ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรคืออะไร?
หลังจากตรัสรู้ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จถึงป่าอิสิปตนะ มฤคทายวันทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
แก่ปัญจวัคคีย์ มีใจความสำคัญคือ
1.ทรงชี้ทางที่ผิดอันเป็นส่วนสุด(สุดโต่ง) ที่บรรพชิตไม่ควรดำเนิน คือ
กามสุขัลลิกานุโยค(การประกอบตนให้ชุ่มอยู่ด้วยกาม) และอัตตกิลมถานุโยค(การทรมานตนให้ลำบาก)
แล้วทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา(ข้อปฏิบัติสายกลาง) ได้แก่ มรรคมีองค์ 8
ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง เป็นไปเพื่อพระนิพพาน
อริยมรรค มีองค์ ๘ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ,ความดำริชอบ , เจรจาชอบ ,การงานชอบ,
เลี้ยงชีวิตชอบ ,พยายามชอบ ,ระลึกชอบ ,ตั้งจิตชอบ
2.ทรงแสดงอริยสัจจ์ 4 คือ
ทุกขอริยสัจ(ทุกข์) คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ล้วนเป็นทุกข์
ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์
ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
2.ทุกขสมุทัยอริยสัจ(เหตุให้ทุกข์เกิด) คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน
มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา(ความทะยานอยากในกาม อยากได้อารมณ์อันน่ารักใคร่)
ภวตัณหา(ความทะยากอยากในภพ อยากเป็นนั่นเป็นนี่)
วิภวตัณหา(ความทะยานอยากในวิภพ อยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ อยากพรากพ้นดับสูญไปเสีย
3.ทุกขนิโรธอริยสัจ(ความดับทุกข์) คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือด้วยมรรค คือวิราคะ สละ
สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน.
4.ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์) คือ อริยมรรคมีองค์ 8
คือ ปัญญาเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ
พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตชอบ
ทรงแสดงว่าทรงรู้ตัวอริยสัจจ์ทั้ง4 , ทรงรู้หน้าที่อันควรทำในอริยสัจจ์4 และทรงรู้ว่าได้ทรงทำหน้าที่เสร็จแล้ว
จึงทรงแน่พระหฤทัยว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว(อันแสดงว่าปฏิบัติจนได้ผลด้วยพระองค์เองแล้ว
เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม(เป็นพระโสดาบัน) และได้ขอบวชก่อน
ต่อมาพระวัปปะ กับพระภัททิยะ สดับพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรม และได้ขอบวช
ต่อมาพระมหานามะกับพระอัสสชิ สดับพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรม และได้ขอบวช
พระไตรปิฎก เล่มที่ 4 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค ภาค 1
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ปฐมเทศนา
*********************************************************************
**ขยายความมรรคมีองค์ 8
1.สัมมาทิฏฐิ(ปัญญาอันเห็นชอบ) คือ ความรู้ในทุกข์ ในทุกขสมุทัย(เหตุแห่งทุกข์)
ในทุกขนิโรธ(ความดับทุกข์) ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ )
2. สัมมาสังกัปปะ(ความดำริชอบ) คือ ความดำริในการออกจากกาม
ความดำริในอันไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน
3. สัมมาวาจา(เจรจาชอบ) คือ เจตนาเครื่องงดเว้นจากพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
4. สัมมากัมมันตะ(การงานชอบ) คือ เจตนาเครื่องงดเว้นจากปาณาติบาต(ฆ่าสัตว์)
อทินนาทาน(ลักทรัพย์) จากอพรหมจรรย์
5. สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีวิตชอบ) คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย
สำเร็จชีวิตอยู่ด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ (เลี้ยงชีพผิด ได้แก่ หาเลี้ยงชีพในทางทุจริตผิดวินัยหรือผิดศีลธรรม
เช่น หลอกลวงเขา เป็นต้น)
6. สัมมาวายามะ(พยายามชอบ) คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร
ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น
เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น
พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน
เพิ่มพูน ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว
7. สัมมาสติ(ระลึกชอบ) คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณา
เห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด*อภิชฌาและโทมนัสใน
โลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึง
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มี
สัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
เนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
*อภิชฌา(โลภอยากได้ของเขา,ความคิด เพ่งเล็งจ้องจะเอาของของคนอื่น)
8. สัมมาสมาธิ(ตั้งจิตชอบ) คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม
สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก(ความตรึก, ตริ,
การคิด, ความดำริ)วิจาร(ความตรอง, การพิจารณาอารมณ์, การตามฟั้นอารมณ์)สงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
บรรลุตติยฌาน มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติ บริสุทธิ์อยู่
พระไตรปิฎก เล่มที่ 19 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 11 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
วิภังคสูตร อริยมรรค 8
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น