วันเข้าพรรษา 2565 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม
วันเข้าพรรษา 2565 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม หรือ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันหยุดราชการและวันหยุดธนาคาร ซึ่งประวัติ ความสำคัญ กิจกรรมแห่เทียนพรรษา การถวายผ้าอาบน้ำฝน ต้องทำอย่างไร มาอัปเดตกัน
สำหรับ วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า "จำพรรษา" นั่นเอง โดย วันเข้าพรรษา 2565 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม หรือ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งประวัติวันเข้าพรรษา ความสำคัญ กิจกรรม มีดังนี้
ประวัติวันเข้าพรรษา
"เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน โดยแบ่งเป็น
- ปุริมพรรษา หรือ วันเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี หรือถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
- ปัจฉิมพรรษา หรือ วันเข้าพรรษาหลัง เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
อย่างไรก็ตาม หากมีกิจธุระ คือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในวันเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า "สัตตาหะ" หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด
สำหรับข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน ได้แก่
1. การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
4. หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้
นอกจากนี้หากระหว่างเดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี พระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่า ที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่าน ครั้งถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้
ทั้งนี้ โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในวันเข้าพรรษา นับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา...
อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง
นอกจากนี้ยังมีประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ "ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา" ประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษา ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาล การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้มีอยู่เป็นประจำทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษา พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้า-เย็น และในการนี้จะต้องมีธูป-เทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็นการกุศลทานอย่างหนึ่ง เพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่างจะมีอานิสงส์เพิ่มพูนปัญญา หูตาสว่างไสว
ตามชนบทนั้น การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้วก็จะมีการแห่แหนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา 3 เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่ง มีการแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงาม โดยถือว่าเป็นงานประจำปีเลยทีเดียว
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา
- ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา
- ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่พระภิกษุสามเณร
- ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
- อธิษฐานงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ
เพลง ชวนบวชเข้าพรรษา
https://youtu.be/DSg-3HB5afI
เพลงวันเข้าพรรษา ขับร้องโดย พูลศรี เจริญพงษ์
ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ธรรมะไทย , kapook.com
...เพลงวันเข้าพรรษา...
ตอบลบวันเข้าพรรษาชาวพุทธมาจดจำ
เป็นวันแรม ในแรม 1 ค่ำ
เป็นวันแรม ในแรม 1 ค่ำ
เดือนแปดนั้นจำอย่าทำลืมนักเชียว
พระต้องอยู่วัด หนึ่งพรรษาที่เดียว
ไม่แลเหลียวเป็นเวลา 3 เดือน
ไม่ไปค้างแรมไม่ไปนอนค้างคืน
ไม่ไปที่อื่นอยู่ที่วัดที่เดียว
เพราะเข้าหน้าฝนข้าวกำลังเริ่มเขียว
พอถึงวันเกี่ยวก็ครบเวลา 3 เดือน
กลอนวันเข้าพรรษา
ตอบลบละแล้วลดงดเหล้าเข้าพรรษา
พัฒนาจิตใจได้มุ่งหวัง
สุขภาพตนดีอยู่จีรัง
เมื่อตนตั้งใจจริงเป็นสิ่งดี
เกิดเป็นคนจนหรือมีก็ชีวิต
ใช้ความคิดจริงอย่างเห็นเป็นสักขี
ศีลธรรมอยู่กับใจตนทุกคนมี
รู้หน้าที่รู้ตามความรุ่งเรือง
ต่างคนต่างใช้ความคิดสิทธิ์มนุษย์
ธรรมแห่งพุทธสู่องค์สงฆ์สีเหลือง
หน้าที่สืบศีลธรรมนำประเทือง
ทุกมุมเมืองศาสนาพาสัมพันธ์
เข้าพรรษาพาธรรมนำจิตอยู่
ได้เรียนรู้กับชีวิตจิตสร้างสรรค์
ความเข้าใจเอื้ออำนวยคนด้วยกัน
ชีวิตนั้นทุกชีวิตอนิจจา
กลอนวันเข้าพรรษา
ตอบลบเข้าพรรษา มาถือศิล ไม่หมิ่นกฏ
จะละลด ปลดเปลื้อง เรื่องตัณหา
มีศีลธรรม ประจำตน คนศรัทธา
สุขชีวา กว่าใคร ไม่ทุกข์ตรม
ถือศีลห้า พรรษานี้ ยิ่งดีเลิศ
กระทำเถิด ชาวไทย ใช้ศีลห่ม
คนถือศีล เพิ่มราศี มีคนชม
จะสุขสม สังคมไทย ได้ร่มเย็น
เข้าพรรษา มาถึง ซึ่งวันนี้
สิ่งไม่ดี หนีไกล อย่าไปเห็น
อบายมุข ทุกอย่าง สร้างลำเค็ญ
ทุกประเด็น เป็นความชั่ว จงกลัวกรรม
เข้าพรรษา มาถือศีล ไม่หมิ่นกฏ
เลิกให้หมด งดกินเหล้า เช้า บ่าย ค่ำ
เป็นคนดี มีมงคล ชนน้อมนำ
เลิกกระทำ ซ้ำรอยเก่า ดื่มเมากัน
งดกินเหล้า เข้าพรรษา มาปีนี้
ทำสิ่งดี มีใจ ใฝ่สร้างสรรค์
ไม่เมามาย คล้ายหมา พาลฆ่าฟัน
ไม่แข่งขัน กันขับรถ ลดการตาย
เข้าพรรษา มาถือศิล ทุกถิ่นทั่ว
ประพฤติตัว ชัวร์ดีเด่น เน้นความหมาย
เป็นชาวพุทธ หยุดสุรา ไม่น่าอาย
มีเหล้าขาย อย่าไปซื้อ ถื อ ศี ล กั น
กลอนวันเข้าพรรษา
ตอบลบเข้าพรรษาลาทีปีละครั้ง
เพื่อมุ่งหวังสร้างกุศลให้ตนใหม่
ลาความชั่วมัวหมองของจัญไร
ปล่อยทิ้งไปสักยามแค่สามเดือน
ลาเหล้าเบียร์เคลียร์กลิ่นให้สิ้นหมด
ละเลิกลดทุกอย่างทิ้งห่างเพื่อน
ลาวงกลอนอ้อนฝันไม่หมั่นเยือน
นอนเนาเถื่อนดีไหมเผื่อได้บุญ
พิเคราะห์ตามความเห็นเป็นไปได้
หยุดเมรัยไม่กลัวว่าหัวหมุน
แต่หยุดรักสามเดือนลืมเลือนคุณ
ต้องขาดทุนถูกสาปรับบาปแทน.
กลอนวันเข้าพรรษา
ตอบลบเป็นคนดีมีคุณธรรม จะล้ำค่า
เข้าพรรษามาถือศีล ถิ่นไทยทั่ว
รักสงบ พบความสุข หมดทุกข์ชัวร์
เลิกเมามัว ทุกครัวเรือน เตือนหัวใจ
เข้าพรรษาอย่าถลำทำผิดศีล
อย่าป่ายปีน กินเหล้าเบียร์ เสียยกใหญ่
เลิกเถิดนะ อบายมุข ทุกคนไทย
จงเลื่อมใสในศีลธรรม และทำตาม
เข้าพรรษา มาวันนี้ ดีที่สุด
ชนชาวพุทธ หยุดกิเลส เหตุบุ่มบ่าม
ละโลภหลง จงทำดี มีงดงาม
อย่าวู่วาม ห้ามใจ ไม่ทำเลว
กลอนวันเข้าพรรษา
ตอบลบเข้าพรรษา พากัน หันเข้าวัด
เพื่อฝึกหัด อบรม บ่มนิสัย
ศีลข้อหนึ่ง พึงเว้น ไม่ฆ่าใคร
สองรักอะไร ก็ได้ อย่าลักทรัพย์
ศีลข้อสาม กามา พามัวหมอง
อันสตรี มือสอง อย่าลักหลับ
อย่าไปจีบเมียคนอื่นเขานะครับ
จงสดับ รับฟัง อย่างตั้งใจ
ศีลข้อสี่ อย่ามุสา อย่าโกหก
ขอหยิบยก มาแจ้ง แถลงไข
ศีลข้อห้า งดสุรา และเมรัย
ของมึนเมาทั้งหลาย อย่าดื่มกิน
กลอนวันเข้าพรรษา
ตอบลบเข้าพรรษามาถึงอีกหนึ่งหน
ชวนเชิญชนชาวพุทธหยุดดื่มเหล้า
อบายมุขทุกสิ่งทิ้งไม่เอา
ถือศีลเนาว์เข้าวัดด้วยศรัทธา
เป็นคนดีมีธรรมะ จะสะสวย
อบอุ่นด้วยช่วยให้มิไร้ค่า
ละ ลด เลิก เบิกทาง สร้างปัญญา
ศาสนา อย่าทิ้ง ทั้งหญิง-ชาย
เชิญเถิดหนามาเริ่ม เพิ่มศีลสัตย์
ร่มขจัดปัดเป่าเราขวนขวาย
โลภ โกรธ หลง ปลงบ้าง อย่างสบาย
รู้ละอาย ถ่ายบาป ภาพพจน์ดี ฯ
โดย อ.สมศักดิ์ บุญมาเลิศ
กลอนวันเข้าพรรษา
ตอบลบเข้าพรรษามาถือศีล คนถิ่นพุทธ
รีบเร่งรุดฉุดใจ ให้สุขี
สร้างกุศลผลบุญ หนุนนำมี
ตลอดปีมีโชค ไม่โศกตรม
เลิกกินเหล้าเมาสุรา ยาถ่อยเถื่อน
สิ่งแปดเปื้อนเบือนหนี ดีเหมาะสม
เข้าพรรษาหาสวรรค์ นั้นเชยชม
อย่าโง่งมจมปลัก รักเลวทราม
ชวนงดเหล้าเข้าพรรษา น่าอายไหม
สื่อบอกไว้ให้เห็น เป็นของห้าม
เหมือนประจานแอบทานเหล้า เฝ้าประณาม
ศีลงดงามยามพรรษา อย่าละเลย....นะจ๊ะ ๆ
โดย อ.สมศักดิ์ บุญมาเลิศ
กลอนวันเข้าพรรษา
ตอบลบเทศกาลเข้าพรรษามหากุศล
บันดาลดลฝนฉ่ำนำพรรษา
เมื่อกายเย็นใจร่มห่มธรรมา
เพื่อบาปหนาได้จางจนบางเบา
แค่ไม่เกินร้อยวันที่ทั่นสุข
อบายมุขทุกอย่างเส้นทางเก่า
ปัดกวาดใจสีดำทำให้เทา
ช่วยขจัดปัดเป่าทุกข์เนาว์นาน
เข้าพรรษาครานี้หรือคราไหน
ตระเตรียมใจให้รักสมัครสมาน
สามัคคีเข้าวัดขจัดมาร
เพราะลูกหลานของเรา....ต่างเฝ้าดู
วันเข้าพรรษา (บาลี: วสฺส, สันสกฤต: วรฺษ, อังกฤษ: Vassa, เขมร: វស្សា, พม่า: ဝါဆို) เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่งที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือภาษาปากว่า จำพรรษา ("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า พักอยู่) การเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง พระสงฆ์จะไม่จำพรรษาไม่ได้ เนื่องจากรูปใดไม่จำพรรษาถือว่าต้องอาบัติทุกกฏตามพระวินัย การเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา
ตอบลบวันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือปีอธิกมาส จะเลื่อนเป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 หลัง) หรือเทศกาลเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือปีอธิกมาส จะเลื่อนเป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 หลัง ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ถือว่าเป็นวันและช่วงเทศกาลทางศาสนาพุทธที่สำคัญเทศกาลหนึ่งในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาประมาณ 3 เดือนในช่วงฤดูฝน โดยวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไปได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย
สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น มีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย
ในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอดทั้ง 3 เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษจากวันสำคัญอื่น ๆ คือ มีการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ด้วย เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา โดยในอดีต ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบบวช (20 ปี) จะนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง 3 เดือน โดยพุทธศาสนิกชนไทยจะเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า "บวชเอาพรรษา"
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" โดยในปีถัดมา ยังได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐานงดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษาและในช่วง 3 เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษา เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทย
ความสำคัญและประโยชน์ของการเข้าพรรษา
-ช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา ดังนั้นการกำหนดให้ภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ ก็จะช่วยให้พันธุ์พืชของต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อย ไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์
-หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 - 9 เดือน ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน
-เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอนให้กับประชาชนเมื่อถึงวันออกพรรษา
-เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
- เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา